รับมือกับปัญหาผึ้งต่อยลูกน้อย ด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านอาจเคยเจอปัญหาแมลงกัดต่อยลูกรัก จนเกิดอาการบวมแดง คัน กันมาบ้างแล้ว แต่การโดนผึ้งต่อยหรือแตนต่อยนั้นเป็นปัญหาใหญ่ เพราะต้องมีวิธีปฐมพยาบาลและหลักปฏิบัติเป็นพิเศษ เช่น การเอาเหล็กในออก ซึ่งเป็นวิธีที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกระบวนการทำที่ถูกต้อง เราจึงมีวิธีรับมือเมื่อลูกรักโดนผึ้งต่อย แตนต่อย มาแนะนำถึงการปฐมพยาบาลและการดูแลเบื้องต้นว่าควรทำอย่างไรบ้าง
ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยโดนผึ้ง ต่อ แตน ต่อย
แน่นอนว่าสำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว การดูแลลูกน้อยให้ดีคงเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุด แต่ในบางครั้งอาจมีสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋ว เช่น แมลงกัดต่อยที่หลุดรอดมาทำร้ายทำให้ลูกน้อยมีรอยบวมแดง คัน เกิดขึ้นบนร่างกาย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจเกินไป คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นได้ ด้วยการเริ่มเช็กอาการ เนื่องจากเด็กแต่ละคนจะมีอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป
อาการไม่รุนแรง
ลูกน้อยอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนทันที และเกิดจุดสีแดง มีรอยบวม รวมถึงเกิดอาการคันรอบบริเวณที่ถูกกัดต่อย ไปจนถึงเกิดความรู้สึกไม่สบายตัวชั่วขณะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นและสามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
อาการรุนแรงปานกลาง
หากลูกน้อยมีอาการรุนแรงปานกลาง จะมีปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดรอยแดงมากในบริเวณที่โดนต่อย ซึ่งอาจบวมขยายมากขึ้นหลังถูกต่อยใน 1-2 วัน โดยอาการรุนแรงปานกลางสามารถรักษาได้ภายใน 5-10 วัน และก็ใช่ว่าอาการรุนแรงปานกลางจะนำไปสู่การแพ้รุนแรงในทุกครั้ง แต่เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากลูกน้อยมีอาการผิดปกติก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้นหากโดนกัดต่อยในครั้งต่อไป
อาการแพ้อย่างรุนแรง
เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากอาการแพ้อย่างรุนแรงนี้สามารถส่งผลอันตรายต่อลูกน้อยได้ โดยพบว่าหากโดนแมลงกัดต่อยในระยะนี้จะทำให้เกิดอาการบวมแดงและมีผื่นคันอย่างรุนแรง ส่งผลให้ลิ้นและคอบวม จนแสดงอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนหัว หมดสติ หายใจลำบาก ชีพจรเต้นเร็วหรือเบา ผิวสีซีด ซึ่งเป็นอาการที่ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อลูกน้อยถูกแมลง เช่น ผึ้งต่อยหรือแตนต่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถทำการปฐมพยาบาลในขั้นตอนเบื้องต้นได้เอง ดังนี้
- หากเหล็กในอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดให้พยายามบีบผิวโดยรอบเพื่อดันเหล็กในออกมาให้เร็วที่สุด แต่ห้ามบีบแรงเกินไปเพราะอาจทำให้พิษในเหล็กแตกออกมาได้ สามารถนำออกมาด้วยการใช้เทปกาวใสปิดแล้วดึงให้เหล็กในออกมา หรือใช้สันมีด ขอบบัตรเครดิต เขี่ยออก แล้วล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่
- ล้างทำความสะอาดผิวเพื่อล้างพิษบริเวณที่ถูกผึ้งหรือแตนต่อยด้วยสบู่และน้ำสะอาด จากนั้นใช้ผ้าซับให้แห้ง
- ใช้น้ำแข็ง น้ำเย็น หรือผ้าเย็นประคบทันทีหลังล้างแผล โดยใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 นาที เนื่องจากความเย็นจากน้ำแข็งจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ยับยั้งการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังช่วยทุเลาอาการอักเสบ ช่วยลดการเจ็บปวดจากพิษลงได้และช่วยลดอาการบวมได้เป็นอย่างดี
- หากลูกน้อยถูกผึ้งต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาขึ้น หรือวางไว้บนระดับที่สูงกว่าปกติ เพื่อป้องกันการแพร่พิษที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
- พยายามดูแลไม่ให้ลูกแกะเกาบริเวณที่ถูกต่อย เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- พิษของแมลงกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน สามารถก่อให้เกิดการอักเสบที่ทำให้เกิดอาการ ปวด บวม แดง คัน รวมถึงออกฤทธิ์เข้าไปกระตุ้นระบบภูมิแพ้ของร่างกายได้ จึงสามารถแบ่งการกินยาออกเป็น 2 ส่วน คือ การแก้ปวด ลดอักเสบ ด้วยยาพาราเซตามอน และการใช้ยาแก้ภูมิแพ้ที่จะเข้าไปช่วยลดการเกิดอาการแพ้
- รักษาอาการบวมแดงและอาการคันที่ผิวหนัง โดยทายาหม่องขี้ผึ้งหรือบาล์มที่มีส่วนผสมช่วยลดอาการบวม แดง เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส เพราะสามารถช่วยลดการอักเสบที่ไม่รุนแรงได้
- หากเกิดอาการแพ้รุนแรง ต้องรีบพาลูกไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดทันที หรือรีบเรียกรถพยาบาล 1669 โดยอาการที่ต้องระวัง มีดังนี้
● ปวด บวม แดง คัน โดยไม่ยุบภายใน 6 ชั่วโมง
● แผลบวมขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการปวดมาก
● เป็นลมพิษทั่วตัว หรือมีอาการบวมบริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น ที่ริมฝีปาก หรือหนังตา
● มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือเจ็บแน่นหน้าอก
● หายใจลำบาก มีอาการวิงเวียนคล้ายจะหน้ามืด เป็นลม
● ถูกต่อยในบริเวณสำคัญ เช่น ที่ลิ้น ภายในช่องปาก หรือที่ตา
● เคยมีประวัติถูกแมลงกัดต่อยมาก่อน
● มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังถูกต่อย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดข้อ ตามัว ตัวซีด มีจ้ำเขียวตามตัว
สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อลูกรักโดนแมลงกัดต่อย จนเกิดอาการบวมแดง คันขึ้นมา คือคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติให้ดี เริ่มตรวจเช็กและประเมินก่อนว่าลูกน้อยแพ้ในระดับไหน ควรทำอย่างไรต่อไป และนอกจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการแล้ว การคอยดูแลรักษาตุ่มบวมแดงที่ระคายเคืองและรบกวนใจลูกน้อยก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาการคันที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย อาจทำให้ลูกรักรำคาญใจจนต้องแกะเกาบริเวณนั้นโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นแผลติดเชื้อขึ้นมาได้
จากนั้นเมื่อดูแลจนหายดีแล้ว ต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ เนื่องจากการได้รับพิษจากแมลงซ้ำหลายครั้ง อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแพ้รุนแรงขึ้นมาได้นั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง
- รับมือเมื่อ ผึ้ง ต่อ แตน ต่อย. สืบค้นเมื่อวันที่
9 มกราคม 2566 จาก https://chulalongkornhospital.go.th/ - ผึ้งต่อยและวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นที่ควรรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก https://www.pobpad.com/
- ผึ้งต่อย อันตราย... อย่าปล่อยเอาไว้นาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก https://hellokhunmor.com/
- เมื่อลูกน้อยโดน แตนต่อย แมลงสัตว์กัดต่อย จะมีอาการและวิธีการรักษาอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก https://th.theasianparent.com/