“ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง” ยาสามัญคู่บ้าน ประโยชน์ล้นตลับ!

หากจะพูดถึงยาสามัญประจำบ้านที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน “ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง” คงเป็นยาลำดับแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง ด้วยสรรพคุณเด่นที่สามารถบรรเทาได้หลายอาการ ตลับจิ๋วแต่สรรพคุณแจ๋ว มีติดบ้านเอาไว้ ใช้ได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงคนชรา ซึ่งบทความนี้จะมาสรุปทุกเรื่องของยาหม่องชนิดขี้ผึ้งแบบเจาะลึก แล้วคุณจะรู้ว่ายาหม่องตลับเล็ก ๆ ที่เราใช้กันมาตั้งแต่เด็กจนโต ยังมีอะไรให้ค้นหามากกว่าที่คิด

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับยาหม่องชนิดขึ้ผึ้ง

คำว่า “ยาหม่อง”มีจุดกำเนิดมาจาก Aw Chu Kin หมอสมุนไพรชาวจีนที่อพยพมาเปิดร้านขายยาอยู่ที่ประเทศพม่า และได้ถ่ายทอดตำรับยาสมุนไพรแก้ปวดภายนอก บรรเทาอาการคลื่นไส้วิงเวียนศีรษะจากราชสำนักจีนทำให้ยานั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศพม่า

“ยาหม่อง” ที่เราเรียกกันจนติดปากนั้น มาจากคำว่า “หม่อง” ที่ใช้เรียกชาวพม่าในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นต้นกำเนิดว่ามาจากประเทศพม่า และเรียกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่นของยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง

ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งมีจุดเด่นอยู่ที่ส่วนผสมซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพรและตัวยาหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับตำรับยาแต่ละตัว มีลักษณะเป็นเนื้อแข็ง แต่มีความอ่อนนุ่ม มีทั้งสีเขียว สีขาว สีเหลือง หรือสีอื่น ๆ ตามส่วนผสมของสมุนไพร มีกลิ่นหอม จึงช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะได้ดี บรรจุอยู่ในแบบตลับหรือขวดแก้วหลากหลายขนาด สะดวกต่อการเก็บรักษาและการใช้งาน

ข้อดีและวิธีใช้ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งให้ปลอดภัย

ประคบไว้ก่อนนอนหรือเมื่อมีอาการและนำที่ประคบออกเมื่อหลับ เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ

รับประทานยาแก้ปวด

ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งเป็นยาใช้ทาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก แมลงสัตว์กัดต่อย และใช้ดมเพื่อแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม สามารถทาหรือดมได้บ่อยตามต้องการ และควรทำตามคำแนะนำในฉลากก่อนใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งก่อนซื้อ ควรพิจารณาส่วนผสมอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในกลุ่มคนที่มีอาการแพ้

นอกจากจะบรรเทาอาการได้หลากหลายแล้ว ยาหม่องชนิดนี้ยังบรรจุอยู่ในรูปแบบตลับหรือขวดแก้ว มีหลายขนาด ทำให้ง่ายต่อการพกพา จะขึ้นรถ ลงเรือ เข้าป่า ตั้งแคมป์ ก็สามารถหยิบใช้ได้ทุกที่ ทุกโอกาส เพียงแค่ปิดฝาให้สนิท จัดเก็บในอุณหภูมิห้อง และป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด หากเป็นแบบไม่แสบร้อน จะสามารถใช้ได้กับคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนมากผลิตจากพืชและสมุนไพรธรรมชาติ จึงปลอดภัยต่อผิวทุกบริเวณ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดวงตา เนื้อเยื่ออ่อน ผิวหนังบริเวณที่บอบบาง และถ้าหากมีส่วนผสมของการบูร ควรใช้กับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้   

สำหรับข้อควรระวังอื่น ๆ นั้น ได้แก่ การงดใช้ยาหม่องทาลงบนผิวบริเวณที่แห้ง แตก มีแผล หรือไหม้จากแสงแดด ห้ามใช้ผ้าพันแผลพันผิวหนังบริเวณที่ทายาหม่อง ห้ามกลืนหรือรับประทานยาหม่องโดยเด็ดขาด และควรล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้ยาหม่องทุกครั้ง

สรรพคุณสำคัญของยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง

1. บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ยาหม่องถือเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาระงับปวดประเภทหนึ่ง มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ใช้ทานวดในบริเวณที่ปวดเมื่อย ซึ่งมีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ขึ้นอยู่กับส่วนผสมและตำรับยานั้น ๆ

2. แก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม

ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งส่วนใหญ่จะมีกลิ่นหอมจากสมุนไพร เมื่อสูดดมแล้วจึงให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด และเป็นลมได้ดี แต่ควรหลีกเลี่ยงยาหม่องที่มีสารเมทิลซาลิไซเลตเพราะอาจระคายเคืองต่อระบบหายใจ และการสูดดมเมนทอลมากเกินไปอาจทำให้มึนงง สับสน เห็นภาพซ้อน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

3. ลดอาการปวด บวม อักเสบจากแมลงกัดต่อย

การถูกแมลงสัตว์กัดต่อยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ตัวยาและสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมของยาหม่องชนิดขี้ผึ้งแบบไม่แสบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และอักเสบได้ดีโดยไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิว

ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งดีกว่ายาหม่องน้ำและยาหม่องน้ำมันอย่างไร?

ปัจจุบันยาหม่องมีวางจำหน่ายในหลายรูปแบบ ทั้งชนิดขี้ผึ้ง ชนิดน้ำ และชนิดน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีสรรพคุณที่คล้ายกัน แต่เหตุผลที่ยาหม่องชนิดขี้ผึ้งได้รับความนิยมจากผู้ใช้มาอย่างต่อเนื่องก็เพราะความสะดวกในการใช้งาน ไม่เหนียวเลอะเทอะมือหรือเสื้อผ้า กลิ่นไม่ฉุน ไม่ติดตัวนานเท่ายาหม่องน้ำและยาหม่องน้ำมัน รวมทั้งมีแบบไม่แสบร้อนผิวให้เลือกใช้ เหมาะกับผิวเด็กและผิวในบริเวณบอบบางนั่นเอง

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ยาหม่อง (ฺBalm) ส่วนผสม และสรรพคุณยาหม่อง. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก https://www.siamchemi.com/
  2. ประวัติยาหม่อง. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก https://thaiwangwan.com/
  3. ยาหม่องขี้ผึ้งไพล. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก  https://oer.learn.in.th/
  4. ยาหม่อง. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จาก https://www.pobpad.com/